การบริจาคสมทบทุน “อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี”
ด้วยโรงพยาบาลราชวิถี มีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ามารับบริการ จำนวน 70,000 รายต่อปี และมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนผู้ป่วยมารับบริการเพิ่มมากขึ้น โดยที่อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินหลังปัจจุบันเป็นอาคารเก่า มีอายุการใช้งานมาถึง 30 ปี และไม่เหมาะสมกับการปรับปรุงพื้นที่ให้สอดคล้องกับการให้บริการที่เข้าถึงได้ง่าย ทันสมัย และสามารถให้การรักษาผู้ป่วยอาการหนักประเภทต่างๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่จำเพาะอย่างรวดเร็ว และสามารถบูรณาการภายใต้ทรัพยากรต่างๆ ที่มีในระดับตติยภูมิและสูงกว่าของโรงพยาบาลราชวิถี รวมถึงการฝึกอบรมด้านการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินขั้นสูงได้ ซึ่งจะวางระบบให้สามารถปฏิบัติงานได้สอดคล้องในการรับส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้รับการช่วยฟื้นคืนชีพจากโรงพยาบาลราชวิถี 2 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นด่านหน้าในการรองรับผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินในพื้นที่บริเวณแถบชานเมืองกรุงเทพฯ ที่มีถนนสายหลักและโรงงานต่างๆ
ในปีงบประมาณ 2564-2566 โรงพยาบาลราชวิถีได้รับงบประมาณและงบประมาณผูกพันวงเงิน 980,000,000.- บาท (เก้าร้อยแปดสิบล้านบาทถ้วน) เพื่อก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินหลังใหม่ (คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี) โดยได้ออกแบบเป็นอาคาร 11 ชั้น ให้มีพื้นที่ที่จะให้การรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินขึ้นใหม่ ให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทุกประเภท โดยคำนึงถึงความรวดเร็ว ปลอดภัย และเหมาะสม ซึ่งจะมีการสร้างพื้นที่รองรับการรักษาเพิ่มเติม เช่น Burn Care Unit, Infectious Care Unit, Spinal Cord Injury & Scoliosis Care Unit, Chest Care Unit, Intervention Center, Patient Assessment Area, AOC & EOC & Dispatch Center ห้องผ่าตัด และ ICU และยังออกแบบให้มีพื้นที่การทำงานแบบบูรณาการของศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วย (Referral Center) และการให้บริการรักษาผ่านระบบ Telemedicine และพื้นที่การสอนฝึกอบรมด้านการรักษา และช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินแก่บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนการสร้างพื้นที่สำหรับหน่วยงานสำคัญต่างๆ ซึ่งมีอยู่เดิมในอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินให้ตอบสนองการปฏิบัติงานได้ดี และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่ หอผู้ป่วย Neurosurgery และหอผู้ป่วยเวชศาสตร์ฉุกเฉิน (หอผู้ป่วย Trauma และหอผู้ป่วย Non-Trauma)
ด้วยงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลมีอย่างจำกัด จึงยังไม่สามารถตอบสนองการสร้างและจัดหาครุภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ สำหรับอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี (หลังใหม่) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อการให้บริการผู้ป่วยได้ จึงมีความจำเป็นต้องจัดหารายได้เพิ่มเติม สามารถร่วมสมทบทุนก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน หรือเพื่อจัดหาครุภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ ได้โดยการบริจาคผ่านช่องทางธนาคารต่างๆ ชื่อบัญชี “มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี” ระบุวัตถุประสงค์ “เพื่ออาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี”